การศึกษาในระบบโรงเรียนมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2427 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
ต่อมาในปี พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น ซึ่งมีผลให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2464
ด้วยเหตุดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้ วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันประถมศึกษาแห่งชาติ" และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2491-2509
การจัดงาน"วันประถมศึกษาแห่งชาติ" ได้เริ่มมีขึ้นใหม่ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่ได้มีการจัดงานในวันนี้ เนื่องจาก
1. พระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาอย่างดียิ่งและทรงเป็นผู้พระราชทานพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฉบับ พุทธศักราช 2464 เป็นฉบับแรก
2. วันดังกล่าวเป็นวันที่มีงานเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ 2 งาน คือ งานวันมหาวชิรานุสรณ์ และงานวันถวายราชดุดีลูกเสือ ดังนั้น วันประถมศึกษาแห่งชาติ จึงได้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์ในการจัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติ
1. เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาของไทย
2. เพื่อเผยแพร่งานการประถมศึกษาทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ
3. เพื่อแนะนำและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจในด้านการบริหารและการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา
4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา
5. เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประถมศึกษา
7. เพื่อปลูกฝังและกระตุ้นความร่วมมือ ร่วมใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประถมศึกษา
ในวันงานได้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านต่าง ๆ เช่นกิจกรรมเสริมความรู้ความสามารถของนักเรียน การจัดนิทรรศการทางวิชาการ การให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการประถมศึกษา ตลอดจนประวัติและวิวัฒนาการของการประถมศึกษา เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น