วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันอาสาฬหบูชา

คือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน

หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภทคือ
1. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้ได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น

2. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น

3. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป

4. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา
เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสร็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่
1. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
2. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ ความดับทุกข์
4. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา"
ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวก นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า

หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย "เอหิภิกขุ อุปสัมปทา" นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์
จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันนี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ

1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา

2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก

3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก

4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันนักข่าว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ


วันนักข่าว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ( 5 มีนาคม)

วันนักข่าว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ทุกวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี
วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)
ความสำคัญของนักข่าว
ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวก็มีความสำคัญ ในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้ อ่านด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบคนทำข่าวเฉกเช่นกระจกสะท้อนสังคมก็คงไม่ผิดอะไรนัก เพียงแต่ควรจะสะท้อนทุกด้านอย่าสะท้อนเพียงด้านเดียวเท่านั้น
ในแวดวงหนังสือพิมพ์มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวว่า “ฐานันดร 4” ความหมายโดยนัยคือ ผู้มีสถานะแตกต่างจากบุคคลอื่นตามธรรมดาทั่วไป หรือแปลความหมายในลักษณะผู้มีอภิสิทธิ์ในการขีด เขียน เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางสื่อมวลชน
กว่าจะมาเป็นวันนักข่าว

วันที่ครั้งหนึ่งบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพข่าวสาร เคยถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งพอสมควรว่า...เราควรให้ความสำคัญ หรือไม่ให้ความสำคัญ?
กลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญ ให้เหตุผลว่า เพราะนักข่าวควรเป็นบุคคลที่ถ่อมตัว สมถะ ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเองเพื่อประชาชน เพื่อชุมชนและเพื่อประเทศชาติ โดยไม่ควรเรียกร้องอะไรมากนัก ถ้าเรายังมีวันนักข่าว ก็แปลว่าเรายกตัวเองเหนือคนอื่น ถึงขนาดประกาศให้มีวันพิเศษขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะในอดีต เคยกำหนดให้เป็นวันหยุดด้วย ดูจะเป็นการให้ความสำคัญจนเกินเหตุไป ในทางที่ถูก เราควรใช้ชีวิตอย่างธรรมดาๆ ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเหมือนกันทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันของบุคคลในอาชีพนี้
แต่กลุ่มที่เห็นว่าควรให้ความสำคัญ ก็เถียงว่า เหตุที่อยากให้มีวันนักข่าว และเน้นให้เห็นความสำคัญของวันนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อตัวนักข่าวเท่านั้น สิ่งที่ต้องการคือการยํ้าให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า นักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์นั้นคือ ผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ใช้ปากกาและใช้หน้ากระดาษแสดงความคิดความเห็นแทนประชาชนว่าอย่างนั้น เถิด การมีวันนักข่าวจึงเท่ากับการมีอะไรสักอย่าง ที่เป็นเครื่องเตือนใจนักข่าวทั้งหลายให้ระมัดระวังตัวเอง ไม่เอาสิทธิของประชาชนไปใช้ผิดๆ หรือทำผิดๆจนกลายเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยความคึกคะนอง ทุกครั้งที่สื่อมวลชนติติง วิพากษ์วิจารณ์ใคร จะต้องระมัดระวังอยู่เสมอๆว่า เรากำลังวิจารณ์แทนประชาชน มิใช่วิจารณ์ตามอำเภอใจ หรือตามแต่ใจเรา ดังนั้นถ้าเรามีวันนักข่าวพร้อมกับกำหนดกิจกรรมให้วันนี้ เป็นวันที่มีความหมายในทางสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักข่าวในการปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมในที่สุด
หลังจากที่แสดงความคิดเห็นกันอยู่ระยะหนึ่ง ผลก็ออกมาในลักษณะพบกันครึ่งทางดังจะเห็นได้ว่าในห้วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ วันนักข่าวค่อยๆแปรโฉมไปสู่ความมีสาระมากขึ้น โดยเฉพาะที่เคยกำหนดให้วันนักข่าวเป็นวันหยุดของนักข่าวทั้งหลายก็เลิกล้มไป ปัจจุบันนี้ วันนักข่าว เป็นวันทำงาน (อย่างเต็มที่) ของหนังสือพิมพ์ทุกๆฉบับ มิใช่วันหยุดสำหรับการออกไปพักผ่อน เฮฮา ดังเช่นในอดีต
กำเนิดวันนักข่าว
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่น บุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ
นายโชติ มณีน้อย
นายเท่ห์ จงคดีกิจ
นายประจวบ อัมพะเสวต
นายวิเชียร โรจนวงศานนท์
นายถาวร มุ่งการดี
นายสนิท เอกชัย
นายเชาว์ รูปเทวินทร์
นายจรัญ โยบรรยงค์
นายกุศล ประสาร
นายชลอ อาภาสัตย์
นายอนงค์ เมษประสาท
นายวิสัย สุวรรณผาติ
นายนพพร ตุงคะรักษ์
นางวิภา สุขกิจ
นายเลิศ อัศเวศน์ นั ดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี นายชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่าน ว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายนั่นเอง แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนผู้อ่านตื่นตัว และต้องการรับข่าวสารมากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4
มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม
ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมวันนักข่าว

* กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์วันนักข่าว อาทิ การประกาศยกย่องหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ช่างภาพ ที่มีผลงานยอดเยี่ยม สมควรได้รับรางวัล “อิศรา อมันตกุล”
* กิจกรรมพบปะสังสรรค์ในระยะสั้นๆในห้วงเวลาเย็นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้นักข่าวจากทุกสำนักมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
* กิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พี่ป้าน้าอา หรือเพื่อนๆ นักข่าวผู้ล่วงลับ โดยมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดชนะสงครามทุกๆปี

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มาฆบูชา


มาฆบูชา


มาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันเกิดพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศ หลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่


วั น"มาฆบูชา" เป็นวันบูชาพิเศษที่ต้องทำในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ( ซึ่งโดยปกติทำกันในกลางเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด ก็เลื่อนไปกลางเดือน ๔ )ถือกันว่าเป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้ เป็นวันคล้ายกับ วันประชุมกันเป็นพิเศษ แห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน

วันนี้เอง ที่พระพุทธองค์แสดง "โอวาทปาฎิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา


โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน
๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย

ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)

ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด

ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ (สจิตฺตปริโยทปนํ)๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.

ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)

ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)

ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)

ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)

จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)

ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันตรุษจีน



"วันตรุษจีนใกล้เข้ามาแล้วน่ะเพื่อนๆ...เรามีคำเตือนมาฝากหากไม่อยากโชคร้ายและอยากโชคดีโปรดอ่านข้อความเหล่านี้"



ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความ หมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่

หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน

การแต่งกายและความสะอาด ใน วันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี

วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับ คนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล

บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี

การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก

ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคง ยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน

ขอให้ทุกคนมีความสุขในวันตรุษจีนปี 2553 นี้น่ะค่ะ







วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

วันทหารผ่านศึก



วันทหารผ่านศึก


ความหมาย

วันทหารผ่านศึก เป็นวันที่ทหารไทยกลับมาจากการรบสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการช่วยเหลือครอบครัวทหาร ที่เสียชีวิตจากการรบ มีการสงเคราะห์โดยผ่านการเห็นจากรัฐบาล มีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึก ได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การกุศลของรัฐมาเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย และกระทรวงกลาโหมจะจัดกองทุนรับเงินอุดหนุนขึ้น

หน้าที่ของทหารผ่านศึก คือ การสงเคราะห์ด้านสวัสดิการ เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษาและการจัดหาอวัยวะเทียม และยังมีการสงเคราะห์ด้านอาชีพ โดยฝึกอบรมอาชีพ จัดหางานในต่างประเทศ และการสงเคราะห์ด้านเกษตรกรรม จัดหาที่ดินทำกินให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือ และกองทุนต่างๆ จัดหาเงินให้สมาชิก ได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพอีก และยังมีการรักษาพยาบาลฟรี โดยการส่งเสริมของทหารผ่านศึกโดยการขอสิทธิพิเศษด้านต่างๆ เช่น ขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น

กิจกรรมวันทหารผ่านศึก

การบริจาคจากประชาชน อาจเป็นการนำเอาผลผลิตของทหารมาจำหน่ายกับประชาชนก็ได้ เช่น การทำดอก ป๊อปปี้ ออกไปขายสู่ประชาชนและอาจมีการตั้งกองทุนขึ้นทุกๆปี
เนื่องในโอกาสวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นวันคล้ายวัน สถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและ เป็นวันทหารผ่านศึก ทางทีมงานวันว่างได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลประวัติจาก "รายการใจถึงใจ" แผนกสารนิเทศกองบัญชา การ ทหารสูงสุด ซึ่งมีข้อมูลดังนี้
ด้วยตระหนักถึงคุณความดีของทหารหาญ ที่เป็นกองกำลังในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ พวกเขาพร้อมเผชิญหน้ากับอริราช ศัตรูอย่างไม่หวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ ทหารทุกคนต่างสละได้ทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายและลมหายใจ ด้วยตระหนักถึงคุณความดีของ ทหารหาญเหล่านั้น รัฐบาลจึงหาหนทางที่จะให้ความช่วยเหลือมาตลอด โดยในสมัย พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2488 โดยเรียกชื่อว่า "คณะกรรมการพิจารณา หาทางช่วยเหลือทหารกองทุน"

ครั้นต่อมา จำนวนของทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การดำเนินงานโดยคณะกรรมการจึงไม่รัดกุมและเหมาะสมกับเหตุการณ์ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เรียกชื่อย่อว่า "อผศ" เพื่อเป็นหน่วยงานถาวรที่จะทำหน้าที่ในการดูแลให้การสงเคราะห์แก่ ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวนทหารผ่านศึก ต่อมาสภาทหารผ่านศึก สภากลาโหม และรัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ เพื่อขยายการสงเคราะห์ให้ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และ พลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายในและภายนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด กับทั้งให้รวมมูลนิธิช่วยทหารและครอบครัวทหารที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ

องค์การได้ให้การสงเคราะห์ประเภทต่างๆ แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึกและนอกประจำการ กล่าวคือ ให้การสงเคราะห์ด้านสวัสดิการทั่วไป การสงเคราะห์ด้านอาชีพ การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล การสงเคราะห์ด้านส่งเสริมสิทธิและเกียรติ


สำหรับในวันทหารผ่านศึกประจำทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้กำหนดให้มีพิธีและกิจกรรมต่างๆ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียหายของเหล่าทหารผ่านศึกทั้งหลาย โดยในช่วงระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ จะเป็นการประกอบ พิธีทางศาสนาพุทธ คริสต์ และ อิสลามรวมทั้งพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 จะมีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพิธีสวน สนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและประชาชน ชาวไทยยังคงระลึกถึงและไม่ลืมเลือนวีรกรรมที่เหล่าวีรชนทหารผ่านศึกได้เคย ประกอบเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน และ เพื่อคนไทยทั้งปวง