วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลกินเจ



ประเพณีการกินเจกำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกๆ ปี รวม 9 วัน 9 คืน มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนมานานแล้ว โดยมีตำนานเล่าขานกันหลายตำนาน

ความหมายของ เจ

ว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
แจมิได้แปลว่า อุโบสถ
ในภาษาจีนมี(กลุ่ม)คำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ(เจ, 齋 / 斋 )เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา ดูจะเป็นคำที่นิยมหยิบยกมาใช้อธิบายความหมายของอักษรแจเสมอมา
โป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ ซึ่งก็คือ “ศีลแปด”ที่เรารูจักกันดี
คนไทยในรุ่นปู่ย่าตายายที่เคร่งในศีลวัตรจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถ ศีลแปดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ อุโบสถศีล ”
ผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกินเจที่ไม่เข้าใจภาษาและที่มาของคำจึงแปลอักษรแจผิดว่า “อุโบสถ” ซึ่งคำแปลนี้ก็ฮิตติดตลาดและถูกคัดลอกไปใช้บ่อยอย่างน่ารำคาญใจ เพราะหากจะเอาตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว
อุโบสถ เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมต่างๆ เรียกย่อว่า โบสถ์
การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)
ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี
แจ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา
ซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการะบูชาเทพยดา

ความหมายของแจในศาสนาอิสลาม

ศัพท์คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบจนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด
แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน
ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉีแต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์

แจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน
ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษา
ได้แก่

1.เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ
2.เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่

เจียะเจ


ความหมาย
เจียะแจ เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรมหลิ่งหนาน (ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)
เจียะ ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน
แจ แปลว่า บริสุทธิ์ ( อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ,ไต้หวัน )
เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม
คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น

กินเจเพื่ออะไร?

ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภท
ชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
2.กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
3.กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นองเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น


การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ





ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
1.งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
2.งด
นม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
3.งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
4.งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น
ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่างๆ
5.รักษา
ศีลห้า
6.รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
7.ทำบุญทำทาน
8.นุ่งขาวห่มขาว
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุด
ตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด




เจ็ดวันอันควรงดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์
1. กินเจในวันเกิดของตนเอง
2. กินเจในวันเกิดของลูกหลาน
3.กินเจในวันแต่งงานหรือวันมงคลสมรส
4.กินเจในวันงานเลี้ยงเพื่อนฝูงญาติมิตร
5.กินเจในวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
6.กินเจในงานทำบุญสร้างกุศลทุกโอกาส
7.กินเจในโอกาสขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: